โรคภูมิแพ้ผิวหนัง มักเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ สาเหตุโรคไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุจากพันธุกรรม ซึ่งโรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก สาเหตุสำคัญมีอะไรบ้าง
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. พันธุกรรม พบว่าเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีโอกาสเป็นโรค ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มากกว่าเด็กที่ไม่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้
2. ความผิดปกติของโครงสร้างของผิวหนัง ได้แก่ การเสียน้ำผ่านผิวหนังมากกว่าคนปกติ การลดลงของไขมันในชั้นผิว การมีความเป็นกรดด่างของผิวที่ผิดปกติ การมีเชื้อประจำถิ่นบนผิวหนังที่ไม่สมดุล และระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังผิดปกติ
3. สิ่งแวดล้อมภายนอกที่เป็นสิ่งกระตุ้น ได้แก่
– อุณหภูมิที่หนาวหรือร้อนเกินไป
– สารระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม แอลกอฮอล์ การเสียดสีจากเสื้อผ้าเนื้อหยาบ
– การแพ้อาหาร เช่น นม ไข่ ถั่ว สามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้ โดยพบได้ประมาณ 10% ของเด็กเล็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
– สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา
ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก แสดงอาการอย่างไร
อาการของ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้แก่ ผิวแห้ง แดง คันมาก เป็นๆ หายๆ เป็นในระยะเวลานาน ในบางครั้งอาจมีน้ำเหลืองซึม หรือ ผิวหนังหนานูนขึ้นเนื่องจากการเกาได้
ตำแหน่งของผื่นที่ขึ้นก็ต่างไปตามช่วงอายุ ได้แก่
– เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มักมีผื่นที่ แก้ม หน้าผาก ท้ายทอย ผิวแขนขาด้านนอก และที่ข้อมือ ข้อเท้า
– เด็กอายุมากกว่า 2 ปี มักมีผื่นที่คอ ข้อพับแขน-ขาทั้ง 2 ข้าง
การวินิจฉัย
กุมารแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวเป็นหลัก และทั่วไปไม่ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นกรณีที่รักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติมได้ โดยวินิจฉัยจากประวัติการแพ้อาหาร หรือสารสัมผัสที่สัมพันธ์กับการเกิดผื่น
การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
1. การดูแลผิวแบบพื้นฐาน ควรปฏิบัติเป็นประจำจะช่วยลดการกำเริบของผื่น
– อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่เกิน 5-15 นาที วันละ 1-2 ครั้ง
– ลดการใช้สบู่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ทุกครั้งที่อาบน้ำ
– หลังอาบน้ำต้องซับตัวหมาด ทาครีมหรือโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำ (สามารถทาครีมระหว่างวันเพิ่มได้เมื่อผิวแห้งหรือคัน)
– หลีกเหลี่ยงสารก่อความระคายเคืองแก่ผิว เช่น เหงื่อ น้ำลาย สารเคมี น้ำหอม แอลกอฮอล์ ทราย หญ้า เสื้อผ้าที่หนาไม่ระบายอากาศ เสื้อผ้าเนื้อหยาบ เสื้อผ้าขนสัตว์ เป็นต้น
2. การรักษาเมื่อผื่นกำเริบ
– ยาทาต้านการอักเสบ เป็นตัวหลักในการรักษาผื่นกำเริบ ได้แก่
– ยากลุ่ม steroid
– ยากลุ่มที่ไม่ใช่ steroid
– ยาฆ่าเชื้อชนิดทา ใช้เมื่อมีการติดเชื้อทางผิวหนังร่วมไปกับผื่นผิวหนังอักเสบ
– ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทาน ใช้เมื่อมีการติดเชื้อทางผิวหนังหลายตำแหน่ง หรือ เป็นบริเวณกว้างร่วมไปกับผื่นผิวหนังอักเสบ
– ยาแก้คันชนิดรับประทาน เพื่อลดการเกาที่อาจจะทำให้เกิดแผลและมีการติดเชื้อทางผิวหนังตามมาได้
การทำความสะอาดผื่นที่มีน้ำเหลืองแห้งกรัง โดยการใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือประคบไปที่ผื่นนาน 10-15 นาที แล้วเอาออก ทั้งนี้ เพื่อช่วยเอาสะเก็ดน้ำเหลืองบนผื่นออก ช่วยให้การทายามีประสิทธิภาพมากขึ้น
การรักษาอื่นๆ ในกรณีผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่รักษายากและไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาข้างต้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาอื่นๆ เช่น ยาต้านการอักเสบหรือยากดภูมิคุ้มกันชนิดรับประทาน การฉายแสง เป็นต้น
3. การรักษาเพื่อป้องกันการกำเริบ
ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาเพื่อป้องกันหรือลดการกำเริบของผื่นได้ เรียกว่า การรักษาแบบ proactive ทำได้โดยใช้ยาทาต้านการอักเสบทาบริเวณที่มีการเกิดผื่นกำเริบบ่อย เช่น บริเวณข้อพับแขนขา โดยทาสัปดาห์ละ 2-3 วันในช่วงที่ผื่นสงบอยู่