วิธีชงนมเด็ก และวิธีเก็บรักษานมให้อยู่ได้นาน

การเลี้ยงลูกด้วยนมผงนั้น อาจเพิ่มความสะดวกให้กับคนในครอบครัวได้มากขึ้นก็จริง แต่ก็มีเคล็ดลับและรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างเพื่อการชงนมอย่างถูกวิธี ซึ่งจะต้องไม่ให้เกิดฟองขึ้นระหว่างการเขย่าขวดนม เนื่องจากจะเป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยเกิดอาการท้องอืดตามมาได้ โดยปกติ วิธีชงนมเด็ก มีขั้นตอน ดังนี้

– ใช้น้ำต้มสุกที่ผ่านความร้อนจนเดือดและทิ้งไว้จนเย็นลงแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นน้ำที่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคน้อยที่สุด และจะไม่ใช้น้ำร้อนจัดในการชงนมเนื่องจากความร้อนจะทำลายโปรตีนและวิตามินบางส่วนในนมผง เช่น วิตามิน C ซึ่งจะไม่ทนความร้อน
– สัดส่วนของปริมาณน้ำต่อนมผงก็เป็นเรื่องสำคัญ นมเด็กทุกยี่ห้อจะมีสัดส่วนที่เหมาะสมอยู่ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ แต่ทั่วไปมักใช้น้ำอุ่นประมาณ 1 ใน 3 ของขวดนม ต่อนมผง 1 ช้อนตวง ที่บรรจุมากับกระป๋อง และปาดให้เรียบด้วยมีดที่สะอาด เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจึงเติมน้ำอุ่นเพิ่มตามอัตราส่วนที่เหลือ เขย่าขวดให้นมละลายจนหมด ในขั้นตอนการเขย่านี้เองที่ต้องใช้ความพิถีพิถันและอาศัยเทคนิคเพื่อให้การเขย่าเกิดฟองน้อยที่สุด ซึ่งทำได้ด้วยการจับขวดนมให้แน่น แล้วหมุนมือเป็นวงกลม เหมือนเอาขวดนมแกว่งน้ำ แทนการเขย่าขึ้นลง จะเกิดฟองมากกว่า
– การทดสอบหยดน้ำนมลงบนหลังมือก่อนถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่ควรทำทุกครั้งก่อนยื่นขวดนมให้ลูก เพราะการทดสอบนี้จะช่วยประเมินได้ว่าอุณหภูมิของนมขวดนั้นอุ่นพอเหมาะหรือไม่ ซึ่งหากนมร้อนเกินไปก็อาจลวกปากลูกน้อยได้ แต่ก็ยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่ชงนมด้วยอุณหภูมิที่สูงเกินไปจึงไม่สามารถให้ลูกกินได้ทันที ต้องทิ้งให้น้ำนมเย็นลงก่อน แต่การวางนมทิ้งไว้นานเกินก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเพราะอาจเริ่มบูดจนเป็นอันตรายแก่ลูกน้อยได้

คุณพ่อคุณแม่จึงมักมีคำถามต่อว่า นมเด็กชงแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน คำตอบคือไม่เกิน 2 ชั่วโมงในอุณหภูมิห้อง หากว่านมที่ชงแล้วถูกทิ้งไว้นานกว่านี้ ก็ควรเทนมในขวดทิ้งไป แต่หากต้องชงนมไว้ทีละหลายขวด แนะนำให้เก็บขวดที่ยังไม่ได้ป้อนลูกไว้ในตู้เย็นเสมอ และนำมาอุ่นด้วยการแช่ในน้ำร้อนก่อนป้อนเด็กทุกครั้ง และควรเทนมทิ้งไป หากเก็บไว้นานกว่า 24 ชั่วโมง

ที่สำคัญและลืมไม่ได้คือการจับลูกให้เรอ หลังอิ่มนมแล้วทุกครั้ง เพื่อลดปัญหาการแหวะนม และท้องอืด เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ลูกน้อยหลับสบายไม่โยเยหลังป้อนนมเรียบร้อยแล้ว